ธรรมาภิบาล เป็นประเด็นที่กล่าวขานกันมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และเชื่อว่าหากมีการนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ สังคมจะมีคุณภาพ ประชาชนจะได้รับความเป็นธรรม มีการอยู่ดีกินดี เพราะผู้บริหารประเทศยึดมั่นในธรรมาภิบาล ดังที่ โคฟี่ อันนัน อดีตเลขาธิการขององค์การสหประชาชาติได้เคยกล่าวว่า
“ ธรรมาภิบาลเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด
ในการกำจัดความยากจน และส่งเสริมการพัฒนา ”
กระแสของการนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้เกิดขึ้นในประเทศไทยหลังวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา ประกอบการการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายครั้งในประเทศไทย มักมีการนำคำว่า ธรรมาภิบาลมากล่าว ด้วยเหตุที่ผู้ปกครอง ผู้มีอำนาจมิได้ยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล จนทำให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมือง
ดังนั้น คำว่าธรรมาภิบาลจึงดูมีความสำคัญมากขึ้น แต่มักมีคำถามว่าการนำมาสู่การปฏิบัติได้จริงนั้นจะต้องทำอย่างไร นอกจากนี้ ธรรมาภิบาลยังเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะเสริมสร้างความยั่งยืนของประชาธิปไตยอีกด้วย สถาบันพระปกเกล้า ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจึงทำการศึกษาค้นคว้าตัวชี้วัดธรรมาภิบาล บนพื้นฐานของหลักการสำคัญ 6 ประการ กล่าวคือ หลักสำนึกรับผิดชอบ นิติธรรม มีส่วนร่วม คุณธรรม โปร่งใส และคุ้มค่า
แม้ว่านักวิชาการจากหลายสถาบันจะมีการจำแนกหลักการย่อยของธรรมาภิบาลไปต่าง ๆ กัน แต่หลักการสำคัญ 6 ประการนี้นับว่าสำคัญที่สุดและขาดไปไม่ได้หากจะกล่าวถึงธรรมาภิบาลที่ครบถ้วน การศึกษาครั้งนั้นเป็นไปเพื่อนำไปสู่การเข้าใจหลักธรรมาภิบาล องค์ประกอบสำคัญ แนวทางการบรรลุธรรมาภิบาล เพื่อปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น ธรรมาภิบาลจึงเป็นทั้งกระบวนการและเป็นเป้าหมาย รายงานนั้นจึงเป็นเอกสารวิจัยชุดแรกๆ ของประเทศไทยที่นำเสนอองค์ความรู้เกี่ยวกับธรรมาภิบาล ซึ่งมักเรียกสลับไปมากับคำว่า การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี …