หลักการมีส่วนร่วม

PARTICIPATION

วันที่เผยแพร่ 27 ธ.ค. 2561


หลักการมีส่วนร่วม (Participation) ที่ ดร. ถวิลวดี บุรีกุล นำเสนอนี้ กล่าวถึง การมีส่วนร่วมของประชาชนว่าเป็นหัวใจสำคัญของประชาธิปไตย เป็นกลไกในการได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความต้องการจากสาธารณชนไปสู่ผู้กำหนดนโยบาย และผู้นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและเอื้อต่อกระบวนการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติด้วย และช่วยในการพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้น

ประกอบกับปัจจัยที่สำคัญที่จำเป็นสำหรับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเมืองการปกครองมีหลากหลาย และใช้วิธีการที่แตกต่างกันออกไป อันจะทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นดีขึ้น นอกจากนี้ ประชาธิปไตยจะต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุล มีการรวมตัวกันเป็นประชาสังคม ซึ่งการมีส่วนร่วมของประชาชนจะช่วยทำให้เกิดความโปร่งใสและการตรวจสอบถ่วงดุลกันได้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนภาคส่วนต่างๆอย่างมากมายและค่อนข้างครอบคลุมทุกระดับของการมีส่วนร่วม และยังคำนึงถึงความเสมอภาคที่ทำให้รัฐต้องดำเนินการเพื่อให้การมีส่วนร่วมของบุคคลที่มีความแตกต่างได้เกิดขึ้นจริง เป็นการป้องกันความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นการเคารพสิทธิมนุษยชนและกำหนดให้รัฐ ประชาชนและเอกชนต้องทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์สาธารณะ จัดเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับนโยบาย  ประชารัฐ ของรัฐบาลปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามการจะทำให้หลักการเหล่านี้ไปสู่การปฏิบัติได้จำเป็นต้องมีกลไกในการดำเนินการให้ชัดเจน การมีแนวทางในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนจึงจะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในภารกิจของรัฐ และสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชน รวมทั้งส่งเสริมการดำเนินการให้เกิดธรรมาภิบาล ที่ประชาชนทุกภาคส่วนล้วนได้รับความเป็นธรรม
 
การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นวิธีการที่พลเมืองจะบรรลุการแก้ปัญหา และการเป็นชุมชนได้ แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ จะยั่งยืนหรือไม่ขึ้นอยู่กับสิ่งอำนวยความสะดวกที่จะเอื้อให้เกิดการมีส่วนร่วมได้ สิ่งอำนวยความสะดวกในการมีส่วนร่วมก็คือ กฎหมาย กระบวนการ สถาบันและการรวมตัวกันซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดโอกาส เกิดกิจกรรมที่มีความสม่ำเสมอและมีพื้นที่ที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาเชื่อมโยงกันกับผู้อื่น มาช่วยกันแก้ปัญหา มาช่วยกันตัดสินใจและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนด้วย สิ่งที่เรียกว่าประเด็นหรือปัจจัยสำคัญที่จะเชื่อมต่อการมีส่วนร่วมก็คือ กฎหมาย การปกครอง ตัวพลเมืองเองในฐานะผู้มีส่วนได้เสียและผู้เกี่ยวข้อง ระบบเลือกตั้งและการศึกษา คำสำคัญก็คือสิ่งอำนวยความสะดวกในการมีส่วนร่วม
 
ดังนั้นเพื่อพัฒนาประชาชนให้สามารถที่จะมีความพร้อมและมีศักยภาพในการมีส่วนร่วมตามวิถีประชาธิปไตย ดร.ถวิลวดี เสนอว่าจำเป็นที่จะต้องสร้างทักษะ ทั้งทางด้าน บุคคลและสังคมตลอดจนจิตใจในการทำงานร่วมกับผู้อื่น เช่น มีทักษะในการเรียนรู้และมีนวัตกรรม โดยมีการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาได้สื่อสารและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี จะทำให้เกิดคุณสมบัติที่สำคัญสำหรับการศึกษาที่ก้าวหน้าและเป็นการขับเคลื่อนเพื่อที่จะเตรียมคนเข้าสู่ทศวรรษใหม่ และมีทักษะ พร้อมที่จะเดินหน้าในกระบวนการประชาธิปไตยที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบต่างๆ ดังนั้นการมีส่วนร่วมในรูปแบบใหม่ๆ ที่เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องจึงจะมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต



ติดต่อเรา

หมายเลขโทรศัพท์
สถาบันพระปกเกล้า
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น 5 ฝั่งทิศใต้ เลขที่ 120 หมู่ 3
ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง
เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210