หลักนิติธรรม

RULE OF LAW

วันที่เผยแพร่ 02 ม.ค. 2562


หลักนิติธรรม (Rule of Law) ที่เขียนโดย ศาสตราจารย์  ดร. บรรเจิด สิงคะเนติ นั้นเป็นการนำเสนอแนวคิดหลักการธรรมาภิบาลสากลและการประยุกต์ใช้หลัก Rule of Law ในสังคมไทย  เป็นการศึกษา “หลักนิติธรรม” ในฐานะที่เป็นหลักสำคัญหลักหนึ่งของ “หลักธรรมาภิบาล” 
 
หลักนิติธรรม” เป็นหลักการที่เป็นข้อจำกัดของการใช้อำนาจรัฐ  ท่านได้ศึกษาที่มาของ “หลักนิติธรรม” (The Rule of Law) และ “หลักนิติรัฐ” (Rechtsstaats-prinzip) ว่ามีที่มาอย่างไร และ “หลักนิติธรรม” ในระบบกฎหมายไทยมีสารัตถะอย่างไร  รวมทั้งศึกษา “เกณฑ์” อันเป็นข้อจำกัดอำนาจรัฐประกอบด้วยหลักใดบ้าง นอกจากนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ได้ให้ความสำคัญกับ “หลักธรรมาภิบาล” และ “หลักนิติธรรม”  โดยกล่าวถึง “หลักธรรมาภิบาล” ไว้ในคำปรารภ ว่าเป็นหลักที่จะป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ 

นอกจากนี้ยังกล่าวไว้ในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 65 ว่า “รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล...”  ส่วน “หลักนิติธรรม” รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เน้นย้ำความสำคัญของหลักนิติธรรมไว้ 2 ประการ คือ ก. หลักนิติธรรม” ในฐานะที่เป็นหลักทั่วไปที่ผูกพันการใช้อำนาจรัฐ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 วรรค 2 “รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม...” และ ข. หลักนิติธรรมในฐานะที่เป็นข้อจำกัดของการตรากฎหมายจำกัดสิทธิ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 “การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคล ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม...” 

จากบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น  ศาสตราจารย์บรรเจิดจึงย้ำว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการให้หลักทั้งสองประการนั้นมีความชัดเจน เพื่อสามารถที่จะปฏิบัติตามหลักดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน และบรรลุวัตถุประสงค์ตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ
 



ติดต่อเรา

หมายเลขโทรศัพท์
สถาบันพระปกเกล้า
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น 5 ฝั่งทิศใต้ เลขที่ 120 หมู่ 3
ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง
เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210