มิติหลักความคุ้มค่า

VALUE OF MONEY

วันที่เผยแพร่ 26 ธ.ค. 2561

มิติหลักความคุ้มค่า


หลักความคุ้มค่า (Value for money)  โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มานวิภา อินทรทัต ซึ่งได้ทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับความคุ้มค่าในองค์ประกอบของหลักธรรมาภิบาลในระดับสากลและของไทย และทบทวนวรรณกรรมในเชิงแนวคิด ทฤษฎี และหลักการของความคุ้มค่า หลังจากนั้นได้ทำการวิเคราะห์สังเคราะห์และประยุกต์เพื่อกำหนดเป็นองค์ประกอบหลัก และองค์ประกอบย่อยของหลักความคุ้มค่าในหลักธรรมาภิบาลที่ควรเป็นและเหมาะสมกับการใช้ในสังคมไทย ทั้งนี้การพิจารณาความคุ้มค่าเกิดขึ้นเพราะความจำกัดของทรัพยากรโดยเฉพาะงบประมาณ รวมทั้งสถานการณ์ต่างๆ ในปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลง รูปแบบการปฏิบัติราชการการมีโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐแลภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้มีการทบทวนหลักความคุ้มค่าจากหลักธรรมาภิบาลเดิมที่เคยศึกษากันมาก่อนหน้า
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มานวิภา อธิบายว่า ความคุ้มค่าเป็นการวิเคราะห์เชิงระบบตั้งแต่การวางแผน การนำไปปฏิบัติ ไม่ใช่เพียงการประเมินผล นั่นคือความคุ้มค่าเป็นการพิจารณาในระยะยาว โดยเริ่มตั้งแต่ปัจจัยที่ใช้ (inputs) เพื่อหาต้นทุนทางตรง ทางอ้อม ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน เพื่อชี้ถึงการประหยัด (Economy) ซึ่งหมายถึงการมีต้นทุนต่ำแต่ได้รับผลลัพธ์ที่ตั้งใจ

จากนั้นพิจารณาประสิทธิภาพ (Efficiency) หมายถึงการได้รับผลผลิตมากกว่าต้นทุนที่ใช้ จากผลผลิตดังกล่าวจะพิจารณาถึงผลกระทบ (Impact) ที่เกิดขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพด้วยเพื่อเปรียบเทียบกับเป้าหมายเป็นการแสดงถึงความมีประสิทธิผล (Effectiveness) ลำดับสุดท้ายพิจารณาผลลัพธ์ทั้งหมดต้องสอดคล้องกับความต้องการ ความคาดหวัง ความจำเป็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งมีความครอบคลุม มีการกระจายอย่างยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติเพื่อแสดงถึงความเสมอภาค (Equity) 
 
ดังนั้น ดร.มานวิภาเสนอว่า ทุกหน่วยงาน ก่อนดำเนินโครงการหรือปฏิบัติงานต้องวิเคราะห์หลักความคุ้มค่า โดยวิเคราะห์เชิงระบบตั้งแต่การวางแผน การปฏิบัติเพื่อทราบถึงการประหยัด การมีประสิทธิภาพ การมีประสิทธิผล และความเสมอภาค องค์ประกอบทั้งสี่ต้องเหมาะสมและสมดุล ฝ่ายกำกับ/ตรวจสอบมีความเข้มงวดในภาคปฏิบัติไม่ควรพิจารณาเฉพาะรายงานที่ได้รับ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินลงโทษมีความรวดเร็วและลงโทษจริง สังคมต้องมีการต่อต้านและสื่อมวลชนต้องเข้ามามีบทบาทเพื่อให้ผลการบังคับตามกฎระเบียบเป็นจริงและมีความคุ้มค่าตามหลักธรรมาภิบาล



ติดต่อเรา

หมายเลขโทรศัพท์
สถาบันพระปกเกล้า
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น 5 ฝั่งทิศใต้ เลขที่ 120 หมู่ 3
ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง
เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210